วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กิจกรรมวันลอยกระทง


กิจกรรมวันลอยกระทง 
          ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก ๆ จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน ๆ กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม 
          เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง ๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา      
     นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง ๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย 

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค


ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค 

          ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ            วันลอยกระทง ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า  "ยี่เป็ง"  อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย)  โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของ ชาวพม่า      

         -  วันลอยกระทง จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็ก แล้วปล่อยลอยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย" 
           วันลอยกระทง จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุ ตะไล และไฟพะเนียง 
           วันลอยกระทง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง 
          วันลอยกระทง กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลาแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง 
          วันลอยกระทง ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี 

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง 
          สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่  

          1. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด 

          2. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา 

          3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ 

          4. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้  

          5. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

          6. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน 

          7. เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง 
ประวัติวันลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน 
          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 

          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง จะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า 

          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..." 

          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

          ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย 

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์(2)

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์
15. ถ้าอยากให้ของขวัญวาเลนไทน์ที่อยู่นานๆ ต้นไม้ในกระถางก็น่ารักดี ดีกว่าดอกไม้ราคาแพงหูฉี่ แต่สามวันเน่า ลองไปหาซื้อไม้ใบ ไม้ดอกสวยๆ เอามามอบให้กัน ราคาถูกกว่า แถมอยู่ได้นานกว่าด้วย อีกอย่างมันก็มีความหมายเป็นนัยๆ ว่า รักของเราจะมั่นคงยาวนาน เหมือนต้นไม้ที่เติบโตและไม่เหี่ยวเฉาง่ายๆ ถ้าได้รับการดูแลอย่างดีนะจ๊ะ
16. ผู้ชาย 55 เปอร์เซ็นต์มองว่าการให้ดอกไม้วาเลนไทน์เป็นเรื่องไร้สาระ บางคนถือว่าการให้ดอกไม้ผู้หญิงเป็นพวกเชยระเบิด ถ้าจะต้องทำเซอร์ไพร้ส์ให้เราวันวาเลนไทน์ เพราะความรักของเค้าอาจจะไม่ได้โฟกัสที่ตรงจุดนั้น
17. สิ่งที่จะทำให้ผู้ชายซึ้งใจและรักเรามากคือความเข้าใจ ไม่ใช่ของขวัญวาเลนไทน์ราคาแพง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องอดข้าว อดน้ำเพื่อซื้อของราคาแพงเกินตัวให้เค้า ถ้าเค้ารักเราจริง เค้าคงไม่สบายใจที่เห็นเราต้องทรมานตัวเองแบบนั้นหรอกนะ ความเข้าใจในตัวของเค้าและอยู่กับเค้าโดยสร้างความสุขให้กันได้ทุกวัน สำคัญสุดแล้ว
18. โลกของเราก็อยากได้ของขวัญวาเลนไทน์จากเธอ ลองหันมารักโลก ทำสิ่งดีๆ ให้โลกกันดูไหม เช่น ปลูกต้นไม้ สัญญากับตัวเองว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติก ประหยัดไฟ ประหนัดน้ำ ฯลฯ แบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ
19. ความสำคัญของการมีแฟนไม่ได้อยู่ที่มีคนเดินด้วยในวันวาเลนไทน์เท่านั้น ฉะนั้นอย่าคิดโง่ๆ แค่ว่า อยากมีแฟนเพราะจะได้มีคนมาเดินข้างๆ ในวันวาเลนไทน์ จนต้องรีบควานหาเอาใครก็ได้มาเคียงคู่ เพียงเพราะว้อนท์อยากมีแฟนใจจะขาด แบบนั้นเธอเสี่ยงจะเจอรักคุดหรือรักสุดอะเฟดได้
20. เราสามารถมีวันวาเลนไทน์ได้ทุกวัน แค่เพียงทำทุกวันให้เป็นวันแห่งความรัก ดูแลกันและกันทุกวัน ใส่ใจกันทุกวัน แล้วเธอก็จะพบว่า ไม่ว่าวันไหน โลกก็เป็นสีชมพูได้ แค่เพียงยังมีกันและกันอยู่เสมอ

วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์(1)

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์
8. คนที่ได้ดอกกุหลาบมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะมีความรักที่น่าอิจฉาที่สุด ตรงกันข้าม คนที่ไม่ได้ของขวัญวาเลนไทน์ซักชิ้น อาจจะมีรักที่น่าอิจฉาที่สุดเลยก็เป็นได้
9. ของขวัญวาเลนไทน์ที่มีค่าที่สุด อาจลงทุนน้อยที่สุด เช่น การ์ดที่ตั้งใจทำกับมือ ดาวกระดาษที่พับมาเป็นเดือนๆ หรือของราคาถูกแต่ตั้งใจหาซื้อมาด้วยใจ เพราะฉะนั้น อย่าตีค่าความรักของใครด้วยราคาของขวัญที่เค้าให้ เราดูที่การกระทำดีกว่านะ ก็มีค่ายิ่งใหญ่สุดๆ แล้ว
10. เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก กลับเป็นเดือนที่มีวันน้อยที่สุดของปี บอกให้เรารู้ว่า ความรักจะสั้นหรือยาวไม่ได้อยู่ที่วันเวลาที่คบกันมา แต่อยู่ที่การทำทุกนาทีให้มีค่าร่วมกันนะจ๊ะ
11. วันวาเลนไทน์ไม่ใช่วันเสียตัวแห่งชาติ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะกลายเป็นแฟชั่นแปลกๆ ไปแล้วว่าวาเลนไทน์โรงแรมม่านรูดจะต้องเต็ม! ไม่เวิร์คเลย เพราะที่สุดแล้ว คนที่จะต้องมานั่งเสียใจในภายหลังก็คือเราคนเดียวเท่านั้น การมีอะไรกันไม่ได้บ่งบอกว่ารักกันเสมอไป ควรมีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
12. วันวาเลนไทน์ แม้จะตื่นเต้นยังไง ก็ยังต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่เอาแต่เหม่อมองรอคอยใครมาให้ดอกไม้ หรือร่าเริงโดดเรียนไปเที่ยวซะงั้น บางคนพอถึง วันวาเลนไทน์ สติแตก เอาแต่วางแผนว่าจะเซอร์ไพร้ส์แฟนยังไง ทำอะไรบ้าง สรุป วันนี้สอบตกเพราะไร้สติโดยสิ้นเชิงล่ะ
13. คนโสดก็มีวาเลนไทน์ที่อบอุ่นได้แค่เพียงรักตัวเอง ขอให้จำไว้เลยว่า แค่เพียงเราใช้วันวาเลนไทน์เป็นวันที่เราดูแลสุขภาพร่างกาย มอบความรัดให้ตัวเอง เราก็จะเป็นผู้หญิงที่น่าอิจฉาที่สุดได้อยู่แล้ว
14. อย่าเสียเงินไปซื้อดอกไม้หรือตุ๊กตามาเดินถือ เพียงเพราะกลัวขายหน้าที่ยังไม่มีใครให้ของขวัญวาเลนไทน์ มันเป็นอะไรที่ไร้สาระมากๆ เพราะการเดินมือเปล่าในวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เรื่องน่าอายซักกะหน่อย ถ้ารวยนักละก็ เอาเงินไปบริจาคให้เด็กยากจนดีกว่านะ