วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กิจกรรมในวันคริสต์มาส

กิจกรรมในวันคริสต์มาส
1.กิจกรรมวันคริสต์มาส ในตอนเด็กๆ เมื่อกลับจากโรงเรียนตอนเด็กๆ เราจะเริ่มหาถุงเท้าสีสันต่างๆมาแขวนไว้ตามหัวนอนหรือในห้อง แล้วต้องให้ ซานตาครอส เห็นง่ายๆด้วยนะ
2. เราชอบคิดว่า บ้านเรามีเตาผิงและดึกๆ ซานตาครอส จะโยนของขวัญ และ ลงมาทางเตาผิงนั้นแล้วมาหาเรา เอาของขวัญมาให้เรา
3. ตอนเด็กระหว่างนอนไม่หลับเราจะมองไปที่หน้าต่างเสมอ ตื่นเต้นรอ ซานตาครอส ขับกวางเรนเดียร์ลอยผ่านหน้าต่าง แล้วจะได้ไปเล่ากับเพื่อนๆฟังในตอนเช้า
4. พ่อแม่จะบอกเราเสมอว่า คืนนี้ ซานตาครอส จะมาให้ของขวัญเฉพาะกับเด็กดีนะลูก 
5. ในระหว่างการเป็นเด็กดี ก็คือ การเข้านอนเร็ว เชื่อฟัง ทำตัวน่ารัก 
6. กิจกรรมวันคริสต์มาส อีกอย่างนึงพ่อแม่จะบอกเราเสมอว่าถ้าหนูอยากได้อะไรก็ อธิฐานขอ ซานตาครอส เอานะคะ แล้วเดี๋ยวตื่นเช้าเราก็มาดูกันนะ
7. ตอนเช้าเราตื่นมาก็มองหาของขวัญเราจะเจอมัน อยู่ใกล้ถุงเท้า หรือไม่ ถ้าชิ้นมันเล็กก็จะซ่อนอยู่ในถุงเท้า 
8. พ่อแม่มักจะบอกให้เราใส่เสื้อผ้าสี แดง เขียว หรือเป็นรูปเกี่ยวกับ วันคริสต์มาส อย่างรูปกวาง รูปซานตาครอส และ ใส่หมวกสีแดง ที่ท่านซื้อมาให้
9. พอเปิดของขวัญทีไรทุกปีของ คริสต์มาส ของขวัญต้องเป็นของที่ไม่ได้ตรงกับคำอธิฐาน แต่พ่อแม่จะบอกเราว่า ซานต้า เค้าเอามาให้นะลูก ถ้าไม่ใช่เด็กดีซานต้าไม่ให้นะ? เราก็จะ ดีใจมีเรื่องไว้ไปเล่าให้เพื่อนฟัง 
10. กิจกรรมวันคริสต์มาส ยามเพ้อฝัน จะให้ ซานตาครอส มานั่งเล่น มาคุย มากล่อมเราก่อนนอน
11. ของขวัญอีกชิ้นที่ทำให้เราสมหวัง คือ ของขวัญวันคริสต์มาส ที่มาจากพ่อแม่ ที่ให้สำหรับเราและคนในครอบครัว ตอนเริ่มงานเลี้ยง วันคริสต์มาส ตอนหัวค่ำนั้นเอง

วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประวัติวันคริสต์มาส

ประวัติวันคริสต์มาส

    คริสต์มาส คือการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้า เราเฉลิมฉลองกันในวันที่ 25 ธันวาคม คำว่า คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Christmas ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ โบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการร่วมพิธีมิสซาเป็นประเพณีสำคัญที่สุดที่ชาวคริสต์ ถือปฎิบัติกันในวันคริสต์มาส    คำว่า Christes Maesse พบครั้งแรก ในเอกสารโบราณ เป็นภาษาอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1038 และคำนี้ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas คำทักทายที่เราได้ฟังบ่อย ๆ ในเทศกาลนี้คือ Merry Christmas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุข และความสงบทางใจ

ประวัติการพระเยซูเจ้า

       ในอดีตจักรพรรดิออกัสตัส รับสั่งให้ราษฎรทุกคน ในอาณาจักรโรมัน ไปลงทะเบียนสำมะโนประชากร โยเซฟและมารีย์ ซึ่งมีครรภ์แก่จึงต้องเดินทางไปยังเมืองเบธเลเฮม อันเป็นเมืองที่กษัตริย์ดาวิดประสูติ พอดีถึงกำหนดที่มารีย์จะคลอดบุตร เธอก็ได้คลอดบุตรชายหัวปี เธอเอาผ้าพันกายพระกุมารแล้ววางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากตามโรงแรมไม่มีที่พักเลยคืนนั้นทูตสวรรค์ของพระเจ้า ปรากฎแก่พวกเลี้ยงแกะ พวกเขาตกใจกลัวมาก แต่ทูตสวรรค์ปลอบพวกเขาว่า "อย่ากลัวไปเลยเพราะเรานำข่าวดีมาบอก คืนนี้เองในเมืองของกษัตริย์ดาวิด มีพระผู้ช่วยให้รอดประสูติ พระองค์นั้นเป็นพระคริสต์พระเป็นเจ้า นี่จะเป็นหลักฐานให้พวกท่านแน่ใจคือ พวกท่านจะพบพระกุมารมีผ้าพันกาย นอนอยู่ในรางหญ้า"ทันใดนั้นมีทูตสวรรค์อีกมากมาย ร้องเพลงสรรเสริญ พระเจ้าว่า "Gloria in Excelsis Deo" ขอเทิดพระเกียรติพระเจ้าผู้สถิตย์ในสวรรค์ชั้นสูงสุด สันติสุขบนพิภพจงเป็นของผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วันคริสต์มาส

ความหมายของวันคริสต์มาส

วันคริสต์มาส คือ การฉลองวันประสูติของพระเยซูผู้เป็นศาสดาสูงสุดของชาวคริสต์ทั่วโลก เป็นวันฉลองที่มีความสำคัญ และมีความหมายมากที่สุดวันหนึ่ง เพราะชาวคริสต์ถือว่า พระเยซูมิใช่เป็นแต่เพียงมนุษย์ธรรดาๆ ที่มาเกิดเหมือนเด็กทั่วไป แต่พระองค์เป็นบุตรของพระเจ้าผู้สูงสุด และมีพระธรรมชาติเป็นพระเจ้า และเป็นมนุษย์ในพระองค์เอง การบังเกิดของพระองค์ จึงเป็นเหตุการณ์พิเศษ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนด้วย
วันคริสต์มาส

ความสำคัญของวันคริสต์มาส

คริสต์มาส เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในศาสนาคริสต์ มิใช่เป็นวันสำคัญฝ่ายร่างกายจัดงาน รื่นเริงภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงเปลือกนอกของการฉลองคริสต์มาส แต่แก่นแท้อยู่ที่ความรัก ของพระเจ้าที่ มีต่อโลกมนุษย์ นั่นคือ พระเจ้าทรงรักมนุษย์ มากจน ถึงกับยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียว ของพระองค์ ให้มาเกิดเป็น มนุษย์ มีเนื้อหนังมังสา ชื่อว่า "เยซู"
การที่พระเจ้าได้ถ่อมองค์ และเกียรติ ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากการเป็นทาส ของความชั่ว และบาปต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นความสำคัญของวันคริสต์มาสจึงอยู่ที่การฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อโลกมนุษย์ อย่างเป็นจริง เป็นจัง และเห็นตัวตนในพระเยซูคริสต์ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ มากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

ความสำคัญของวันคริสต์มาส

คริสต์มาส เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในศาสนาคริสต์ มิใช่เป็นวันสำคัญฝ่ายร่างกายจัดงาน รื่นเริงภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงเปลือกนอกของการฉลองคริสต์มาส แต่แก่นแท้อยู่ที่ความรัก ของพระเจ้าที่ มีต่อโลกมนุษย์ นั่นคือ พระเจ้าทรงรักมนุษย์ มากจน ถึงกับยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียว ของพระองค์ ให้มาเกิดเป็น มนุษย์ มีเนื้อหนังมังสา ชื่อว่า "เยซู"
การที่พระเจ้าได้ถ่อมองค์ และเกียรติ ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากการเป็นทาส ของความชั่ว และบาปต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นความสำคัญของวันคริสต์มาสจึงอยู่ที่การฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อโลกมนุษย์ อย่างเป็นจริง เป็นจัง และเห็นตัวตนในพระเยซูคริสต์ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ มากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เพลงในวันลอยกระทง

เพลงในวันลอยกระทง
เราได้ยินเพลง "รำวงลอยกระทง" ที่ขึ้นต้นว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง..." นั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นที่คุ้นหูของทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เพราะในต่างประเทศมักเปิดเพลงนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเป็นประเทศไทย 

          เพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็น เพลงรำวงลอยกระทง ที่ติดหูกันมาทุกวันนี้ มีเนื้อร้องว่า 

          
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง 
          เราทั้งหลายชายหญิง 
          สนุกกันจริง วันลอยกระทง 
          ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง 
          ลอยกระทงกันแล้ว 
          ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง 
          รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง 
          บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ 

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กิจกรรมวันลอยกระทง


กิจกรรมวันลอยกระทง 
          ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก ๆ จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน ๆ กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม 
          เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง ๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา      
     นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง ๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย 

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค


ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค 

          ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ            วันลอยกระทง ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า  "ยี่เป็ง"  อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย)  โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของ ชาวพม่า      

         -  วันลอยกระทง จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็ก แล้วปล่อยลอยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย" 
           วันลอยกระทง จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุ ตะไล และไฟพะเนียง 
           วันลอยกระทง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง 
          วันลอยกระทง กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลาแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง 
          วันลอยกระทง ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี 

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง 
          สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่  

          1. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด 

          2. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา 

          3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ 

          4. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้  

          5. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

          6. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน 

          7. เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง 
ประวัติวันลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน 
          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 

          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง จะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า 

          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..." 

          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

          ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย 

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์(2)

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์
15. ถ้าอยากให้ของขวัญวาเลนไทน์ที่อยู่นานๆ ต้นไม้ในกระถางก็น่ารักดี ดีกว่าดอกไม้ราคาแพงหูฉี่ แต่สามวันเน่า ลองไปหาซื้อไม้ใบ ไม้ดอกสวยๆ เอามามอบให้กัน ราคาถูกกว่า แถมอยู่ได้นานกว่าด้วย อีกอย่างมันก็มีความหมายเป็นนัยๆ ว่า รักของเราจะมั่นคงยาวนาน เหมือนต้นไม้ที่เติบโตและไม่เหี่ยวเฉาง่ายๆ ถ้าได้รับการดูแลอย่างดีนะจ๊ะ
16. ผู้ชาย 55 เปอร์เซ็นต์มองว่าการให้ดอกไม้วาเลนไทน์เป็นเรื่องไร้สาระ บางคนถือว่าการให้ดอกไม้ผู้หญิงเป็นพวกเชยระเบิด ถ้าจะต้องทำเซอร์ไพร้ส์ให้เราวันวาเลนไทน์ เพราะความรักของเค้าอาจจะไม่ได้โฟกัสที่ตรงจุดนั้น
17. สิ่งที่จะทำให้ผู้ชายซึ้งใจและรักเรามากคือความเข้าใจ ไม่ใช่ของขวัญวาเลนไทน์ราคาแพง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องอดข้าว อดน้ำเพื่อซื้อของราคาแพงเกินตัวให้เค้า ถ้าเค้ารักเราจริง เค้าคงไม่สบายใจที่เห็นเราต้องทรมานตัวเองแบบนั้นหรอกนะ ความเข้าใจในตัวของเค้าและอยู่กับเค้าโดยสร้างความสุขให้กันได้ทุกวัน สำคัญสุดแล้ว
18. โลกของเราก็อยากได้ของขวัญวาเลนไทน์จากเธอ ลองหันมารักโลก ทำสิ่งดีๆ ให้โลกกันดูไหม เช่น ปลูกต้นไม้ สัญญากับตัวเองว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติก ประหยัดไฟ ประหนัดน้ำ ฯลฯ แบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ
19. ความสำคัญของการมีแฟนไม่ได้อยู่ที่มีคนเดินด้วยในวันวาเลนไทน์เท่านั้น ฉะนั้นอย่าคิดโง่ๆ แค่ว่า อยากมีแฟนเพราะจะได้มีคนมาเดินข้างๆ ในวันวาเลนไทน์ จนต้องรีบควานหาเอาใครก็ได้มาเคียงคู่ เพียงเพราะว้อนท์อยากมีแฟนใจจะขาด แบบนั้นเธอเสี่ยงจะเจอรักคุดหรือรักสุดอะเฟดได้
20. เราสามารถมีวันวาเลนไทน์ได้ทุกวัน แค่เพียงทำทุกวันให้เป็นวันแห่งความรัก ดูแลกันและกันทุกวัน ใส่ใจกันทุกวัน แล้วเธอก็จะพบว่า ไม่ว่าวันไหน โลกก็เป็นสีชมพูได้ แค่เพียงยังมีกันและกันอยู่เสมอ

วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์(1)

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์
8. คนที่ได้ดอกกุหลาบมากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะมีความรักที่น่าอิจฉาที่สุด ตรงกันข้าม คนที่ไม่ได้ของขวัญวาเลนไทน์ซักชิ้น อาจจะมีรักที่น่าอิจฉาที่สุดเลยก็เป็นได้
9. ของขวัญวาเลนไทน์ที่มีค่าที่สุด อาจลงทุนน้อยที่สุด เช่น การ์ดที่ตั้งใจทำกับมือ ดาวกระดาษที่พับมาเป็นเดือนๆ หรือของราคาถูกแต่ตั้งใจหาซื้อมาด้วยใจ เพราะฉะนั้น อย่าตีค่าความรักของใครด้วยราคาของขวัญที่เค้าให้ เราดูที่การกระทำดีกว่านะ ก็มีค่ายิ่งใหญ่สุดๆ แล้ว
10. เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก กลับเป็นเดือนที่มีวันน้อยที่สุดของปี บอกให้เรารู้ว่า ความรักจะสั้นหรือยาวไม่ได้อยู่ที่วันเวลาที่คบกันมา แต่อยู่ที่การทำทุกนาทีให้มีค่าร่วมกันนะจ๊ะ
11. วันวาเลนไทน์ไม่ใช่วันเสียตัวแห่งชาติ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะกลายเป็นแฟชั่นแปลกๆ ไปแล้วว่าวาเลนไทน์โรงแรมม่านรูดจะต้องเต็ม! ไม่เวิร์คเลย เพราะที่สุดแล้ว คนที่จะต้องมานั่งเสียใจในภายหลังก็คือเราคนเดียวเท่านั้น การมีอะไรกันไม่ได้บ่งบอกว่ารักกันเสมอไป ควรมีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
12. วันวาเลนไทน์ แม้จะตื่นเต้นยังไง ก็ยังต้องเรียนหนังสือ ไม่ใช่เอาแต่เหม่อมองรอคอยใครมาให้ดอกไม้ หรือร่าเริงโดดเรียนไปเที่ยวซะงั้น บางคนพอถึง วันวาเลนไทน์ สติแตก เอาแต่วางแผนว่าจะเซอร์ไพร้ส์แฟนยังไง ทำอะไรบ้าง สรุป วันนี้สอบตกเพราะไร้สติโดยสิ้นเชิงล่ะ
13. คนโสดก็มีวาเลนไทน์ที่อบอุ่นได้แค่เพียงรักตัวเอง ขอให้จำไว้เลยว่า แค่เพียงเราใช้วันวาเลนไทน์เป็นวันที่เราดูแลสุขภาพร่างกาย มอบความรัดให้ตัวเอง เราก็จะเป็นผู้หญิงที่น่าอิจฉาที่สุดได้อยู่แล้ว
14. อย่าเสียเงินไปซื้อดอกไม้หรือตุ๊กตามาเดินถือ เพียงเพราะกลัวขายหน้าที่ยังไม่มีใครให้ของขวัญวาเลนไทน์ มันเป็นอะไรที่ไร้สาระมากๆ เพราะการเดินมือเปล่าในวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เรื่องน่าอายซักกะหน่อย ถ้ารวยนักละก็ เอาเงินไปบริจาคให้เด็กยากจนดีกว่านะ

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

20 เรื่องที่ควรรู้กับวาเลนไทน์

20 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับวาเลนไทน์
1. วันวาเลนไทน์เกิดขึ้นระลึกถึงนักบุญเซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) ผู้รับโทษประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 เพราะในยุคนั้นมีกฏหมายห้ามไม่ให้มีแต่งงานของพวกคริสเตียน แต่เซนต์วาเลนไทน์ยังแอบจัดงานแต่งงานให้กับคู่รักคริสเตียนจนถูกจับขังและ รับโทษ โดยในขณะที่ถูกคุมขังนั้น เขาก็พบรักกับสาวตาบอดซึ่งเป็นลูกสาวของผู้คุม ด้วยความรักและคำอธิษฐานของเขา พระเจ้าได้ทรงโปรดให้ตาของสาวคนรักหายเป็นปกติ แต่เมื่อความนี้ล่วงรู้ถึงหูกษัตริย์ เซนต์วาเลนไทน์จึงถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศรีษะ ต่อมาเมื่อคนทั่วไปทราบเรื่องราวจึงเกิดความประทับใจและยึดถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันแห่งความรัก นั่นเอง
2. คนที่ฟ้าส่งมาให้รักเรามากที่สุดคือ พ่อแม่ เป็นรักไม่มีวันหมดอายุ ไม่มีเงื่อนไข เพราะต่อให้เราอ้วน น่าเกลียด พิการ ทำตัวงี่เง่ายังไง พ่อแม่ก็ยังรักและพร้อมจะเสียสละเพื่อเราเสมอ ดังนั้นในวันวาเลนไทน์ จึงอยากใหคุณๆ ทำดีต่อคุณพ่อคุณแม่ให้มากๆ นะคะ
3. คนที่ไม่มีแฟนไม่ใช่คนอาภัพน่าสงสารในวันวาเลนไทน์ เพราะคนโสดก็มีความรักได้ และคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือคนที่ไม่มีความรักในหัวใจต่างหากล่ะ อีกอย่าง...คนที่มีแฟน แต่แฟนห่วยแตก ชีวิตเหมือนถูกขังให้ทรมานไปวันๆ น่าสงสารกว่าคนโสดเป็นไหนๆ
4. จากการสำรวจพบว่าในวัยเรียน เด็กคอซอง คนที่ให้ของขวัญบอกรักกันมากที่สุดในวันวาเลนไทน์ ไม่ใช่ คู่รัก แต่เป็น เพื่อน ดังนั้นอย่าเครียดไปเลยที่แม้ว่าจะยังไม่มีแฟนมาควงแขนอวดใครในวันวาเลนไทน์ เพราะถึงยังไง เราก็ยังมีเพื่อนมากมายที่มอบความรักต่อกันได้อยู่นะ
5. กุหลาบราคาแพงไม่ได้แสดงว่าเค้ารักเรามากจริงๆ ดังนั้นอย่าไปเชื่อคำพูดของใครว่า รักเรามาก เพียงเพราะเค้าให้ดอกกุหลาบราคาแพงหูฉี่ เรื่องแบบนี้อยู่ที่ใจล้วนๆ
6. ครูที่ปรึกษาหลายท่านร้องไห้ด้วยความทราบซึ้ง เมื่อลูกศิษย์ประจำห้องมอบดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ให้ท่านคนละดอก ลองวางแผนเซอร์ไพร้ส์ครูดูไหมล่ะ ให้เพื่อนๆ เอาดอกไม้ไปไหว้ครูพร้อมๆ กัน ได้เห็นครูน้ำตาร่วงเพราะซึ้งใจชัวร์ดิ
7. เมื่อเธอมองรอบตัว จะพบสิ่งมีชีวป็นผู้ให้ความรักแก่พวกเขา มีเมตตาแก่พวกเขาดู แล้วเธอจะเต็มอิ่มไปด้วยรักในหัวใจ

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา

ข้อพึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ

ตักบาตร
กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในช่วงเช้า คือการตักบาตรใหญ่ อาจจัดขึ้นที่วัดและตามพื้นที่ราชการ โดยมีพระสงค์จำนวนมากเข้าร่วมพิธี
ทำบุญ
พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญในวันอาสาฬหบูชาตลอดทั้งวัน โดยสามารถทำได้ในรูปแบบต่างๆ การถวายสังฆทาน การปล่อยนกปล่อยปลา รวมไปถึงการถือศีล 5 หรือศีล 8 และการฟังเทศน์ที่วัดในช่วงตอนเย็น
เวียนเทียน
การเวียนเทียนนั้นจะเรียกว่าการเวียนเทียนเข้าพรรษา จัดขึ้นในตอนหัวค่ำ เพื่อแสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
งดเหล้าเข้าพรรษา
การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษานั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ถือเป็นค่านิยมในประเทศไทย เพราะการงดดื่มสุราในช่วงเวลา 3 เดือนของการเข้าพรรษานี้ ถือเป็นการปฏิบัติเพื่อบูชาศาสนา รวมไปถึงการใช้เป็นข้ออ้างทางสังคมเพื่อหลีกหนีจากสุรา
เหตุผลในการงดเหล้าเข้าพรรษา
  1. เพื่อสุขภาพของตัวเอง
  2. เพื่อลดค่าใช้จ่ายในสิ่งมึนเมา
  3. เพื่อลดความเสี่ยง และไม่สร้างบัญหาให้สังคม
  4. เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม และทำนุบำรุงศาสนา

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันหยุดราชการไทย หนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 และถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ความสำคัญวันอาสาฬหบูชา
อาสาฬห หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ ดังนั้นคำว่า “อาสาฬหบูชา” จึงหมายถึง การบูชาในเดือน 8 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศาสนาพุทธ 3 ประการคือ
  1. เป็นวันที่มีการประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก มีการแสดงพระปฐมเทศนา หรือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นสัจธรรมที่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณทรงตรัสรู้
  2. เป็นวันที่เกิดประรัตนไตรครบ 3 องค์ คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ
  3. เป็นวันที่พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม หลังจากฟังปฐมเทศนาจบ
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ถือเป็น เทศนากัณฑ์แรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ โดยมี 5 ท่านคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ เป็นนักบวชที่ออกบวช เพื่อติดตามปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งโกณฑัญญะ เป็นคนแรกที่ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

การบูชาในเดือน 8 เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากในปี พ.ศ.2501 คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน ให้เวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมเทศนา ส่วนเวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา

เทียนเข้าพรรษา

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียนเทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

     วันวิสาขบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อจัดพิธีทำบุญใหญ่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญของโลก เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง องค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลก ประกาศบูชาวันวิสาขะ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวรและเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้ามาสักการะในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางเข้าวัดบำเพ็ญกุศล ถือศีล ฟังธรรมแล้ว ยังนิยมการปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันก็จะมีการบำเพ็ญกุศลความดีอื่นๆ อาทิ ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็นกันเป็นจำนวนมากก่อนที่จะเริ่มทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวบทสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา ซึ่งโดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนที่จะเริ่มเวียนเทียน ส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติพิธีการเวียนเทียนกันอย่างเป็นทางการ มีพระสงฆ์เป็นผู้นำเวียนเทียนในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา หรือ 2 ทุ่ม โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดก่อนเริ่มการเวียนเทียนที่มีทั้งบาลีและคำแปลตามลำดับ ดังนี้ 
  1. บทบูชาพระรัตนตรัย
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุฯ
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
  8. บทสรรเสิรญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  9. บทสวดเนื่องในวันวิสาขบูชา

เมื่อสวดจบแล้วก็จะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา จากนั้นจึงเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยในขณะที่เดินพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวดบท อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด สวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด ปะฏิปันโน(รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนครบ 3 รอบ เมื่อเดินเวียนครบแล้วให้นำธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

ประวัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

                      จากหลักฐานพบว่า วันวิสาขบูชา ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา ส่วนการเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยนั้นอาจเป็นเพราะเมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด จะเห็นได้ว่ามีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ซึ่งการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตต่อสัตว์ ต่อมาภายหลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่มีปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กิจกรรมในวันมาฆบูชา

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
       การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี

วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันมาฆบูชา1

ประวัติวันมาฆบูชา

มูลเหตุ
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายมีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
โอวาทปาฏิโมกข์
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา
ความหมายวันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญวันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
ประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาตคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ
"จาตุร" แปลว่า ๔ 
"องค์" แปลว่า ส่วน 
"สันนิบาต" แปลว่า ประชุม 
ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กิจกรรมวันสงกรานต์

กิจกรรมวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญในลักษณะนี้มักจะมีการเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาทำบุญก็จะนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัดโดยจัดเป็นที่รวมสำหรับการทำบุญ ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการก่อเจดีย์ทรายอันเป็นประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์อีกด้วย
การรดน้ำ นับได้ว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน น้ำที่นำมาใช้รดหัวในการนี้มักเป็นน้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
การสรงน้ำพระ เป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ซึ่งในบางที่ก็จะมีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย
การบังสุกุลอัฐิ สำหรับเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มักทำที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์ จากนั้นจะนิมนต์พระไปบังสุกุล
การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ใที่ห้ความเคารพนับถือ อย่าง ครูบาอาจารย์ มักจะนั่งลงกับที่ จากนั้นผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็นพระก็อาจนำเอาผ้าสบงไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมายกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในวันปีใหม่ไทย
การดำหัว มีจุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำของทางภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นการดำหัวได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสว่า ไม่ว่าเป็น พระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวหลักๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้
การปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าการล้างบาปที่เราได้ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี มีแต่ความสุข ความสบายในวันขึ้นปีใหม่

การขนททรายเข้าวัด ในทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาคให้พบแต่ความสุข ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางพื้นที่มีความเชื่อว่า การนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดเป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เกิดบาป

วันสงกรานต์

สงกรานต์คือ เป็นประเพณีของไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม
สงกรานต์ เป็นคำในภาษา สันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อของไทยและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเพณีสงกรานต์นั้นมีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมทีวันที่จัดสงกรานต์นี้นั้นจะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทย คือ วันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 และได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
ประวัติวันสงกรานต์
เมื่อครั้งก่อน พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ โดยได้ขยายออกไปสู่คมเป็นวงกว้างมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศคติ ตลอดจนความเชื่อไป แต่เดิมในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุขปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ โดยได้ตัดข้อมูลในส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมออกไป

วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส(6)

               6)L'Arc de Triomphe de Carrousel
  L’Arc de Triomphe de Carrousel (ประตูชัยการูเซล) อยู่ในสวน Tuilerie ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ Louvre พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้ สร้างขึ้นตั้งใจจะให้เหมือน ประตูชัย Septiem Sévère ( จักรพรรดิโรมันซึ่งครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 193 - 211 ) กับของพระเจ้า Constantin มหาราช ซึ่งเป็นจักพรรดิโรมันเช่นกัน ( ค.ศ. 306 - 337 )
ประตูชัยการูเซลค่าใช้จ่ายร่วมล้านฟรังค์ในสมัยนั้น สูง 14.90 เมตร ยาว 19.50 เมตร มีซุ้มประตูโค้ง 3 ซุ้ม ซุ้มตรงกลางใหญ่ที่สุด สิ่งที่ทำให้ประตูชัยนี้มีคุณค่าสูงคือภาพสลักหินอ่อนสีชมพู รสนิยมแบบโบราณมาผสมผสานเข้ากับศิลปะยุค นโปเลียนได้อย่างกลมกลืน เสากลม 8 ต้น ที่ตั้งประดับอยู่นี้ทำด้วยหินอ่อนสีแดง ตุ๊กตา 8 ตัวบนยอดเสาสลักเป็นทหารเหล่าต่าง ๆ ในสมัยนโปเลียนบนซุ้มประตูรถแบบโรมัน เทียมม้า 4 ตัว มี 2 ล้อ กำลังแล่นนำผู้มีชัยชนะ แต่งตัวแบบโรมัน ในมือชูคบเพลิงแห่งชัยชนะเข้าในเมือง มีเทพธิดา 2 นาง ขนาบข้างม้าทั้ง 4 มาด้วย ประตูชัยการูเซลไม่เด่นสง่าเท่าประตูเอตวล เพราะประตูชัยเอตวลเป็นจัตุรัส แต่จากประตูชัยการูเซลจะได้ภาพที่สวยงามมาก เมื่อดูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มองลอดซุ้มโค้งของ Le Carrousel จะเห็นเสาหิน Obélisque อยู่ถัดไปและจะเห็น L’Arc de Triomphe de l’Etoile อยู่ลึกสุดของภาพ ซึ่งเป็นแนวตรง เป็นภาพที่สวยงามหาดูได้ยาก

 

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

สถานที่สำคัญทางประวัติศาตร์ของฝรั่งเศส(5)

5)Le Panthéon
 
             Panthéon ( เลอปองเตอง ) เป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่ที่สุดใน le quartier Latin โดมสูง80 เมตร ตัวอาคารยาว 110 เมตร กว้าง 82 เมตร เริ่มสร้างในสมัยพระเจ้า หลุยส์ที่ 15 โดยพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์เองในปี ค.ศ. 1764 สถาปนิก คือ Soufflotซึ่งต่อมาได้เป็นชื่อถนนด้านหน้าของ Panthéon เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่คนนี้
ตอนสร้างตอนแรกนั้นเพื่อเป็นโบสถ์ (égliseในสมัยปฏิวัติเป็นวิหาร ( temple ) โดยให้ชื่อว่า Panthéon เป็นที่เก็บศพหรือกระดูกของรัฐบุรุษและบุคคลสำคัญของชาติ ในสมัย Restauration ( 1814-1830 ) ได้เป็นวิหารแห่งความรุ่งโรจน์ ( temple de la Gloire ) ในสมัยพระเจ้า หลุยส์-ฟิลลิป ซึ่งในสมัยจักรวรรดิที่ 2 เป็นโบสถ์ (église) ในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 กลับเป็นที่ฝังศพของรัฐบุรุษตามเดิมได้มีพิธีฝังศพวิคเตอร์ ฮูโก ( Victor Hugo ) นักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1885ข้างในวิหารที่มีโดมใหญ่โตนี้มีภาพวาดฝาผนังสวยงามที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ภาพวาดของปูวิ ( Puvis ) และ ชาวาน ( Chavannes )
ศพคนสำคัญ และนักเขียนของฝรั่งเศสที่เก็บไว้ในห้องใต้ดิน มี Jaurès, Braille,Emaile Zola,Voltaire,Rousseau ฯลฯ คำจารึกข้างหน้าเขียนไว้ว่า ประเทศระลึกถึงบุญคุณรัฐบุรุษ และคนสำคัญ “Aux grand Hommes,la patrie reconnaissante”

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส(4)

                        4)La Conciergerie

       La Conciergerie ( ลาคองแซจเชอคี ) la Conciergerie เคยเป็นที่อยู่ของ gouverneur ของ la maison du Roi ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1392 ได้กลายเป็นคุก ในระหว่างการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ( ปี ค.ศ. 1793-1794 ) ลาคองแซจเชอคี กลายเป็นคุกของรัฐ ( prison d’Etat ) มีโศกนาฎกรรมต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ในช่วงที่เป็น prison d’Etat La Conciergerie สวยงามและเด่นสง่าเมื่อมองจากเกาะกลางแม่น้ำแซน (I’île de la Cité) ส่วนที่เด่นของ la Conciergerie คือหอคอยกลม ( les tours rondes ) และหอนาฬิกาสี่เหลี่ยม ( la tour carée de l’horloge )

วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส(3)

                       3)Place de la Concorde
    
          Place de la Concorde ( จัตุรัสคองกอร์ด ) เป็นจัตุรัสที่กว้างใหญ่ที่สุดของกรุงปารีส สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ระหว่างปี ค.ศ. 1753-1775 โดยทรงให้ Jacques-Ange Gabriel เป็นสถาปนิกออกแบบตกแต่งบริเวณ ในบริเวณลานกว้างใหญ่เนื้อที่ 62,000 ตารางเมตร มีรูปปั้น น้ำพุ มีเสาหินสูง 23 เมตร ชื่อ โลเบลิสต์ เดอ ลุกซอร์ ( L’Obélisque de Lougsor ) ซึ่งปาชาโมฮำเม็ด อาลี แห่งอียิปต์ถวายแก่พระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิป ในปี ค.ศ. 1836 
จัตุรัสแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเพราะในสมัยปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปีค.ศ. 1789 นั้น เป็นที่ที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอองตัวเนต ด้วยเครื่องกิโยติน ( Guillotine ) ชื่อของจัตุรัสตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1795 ว่า Place de la Concorde โดยมีเหตุผลที่จะสมานความสามัคคีระหว่างผู้ปฎิวัติและผู้ถูกปฎิวัติ คำว่า concorde หมายความว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส(2)

             2) L'Arc de Triomphe de l'Etoile


    
L’Arc de Triomphe de l’Etoile ( ประตูเอตวล ) พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้สร้างประตูชัยแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการรบในสมัยพระองค์ เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1810 ใช้เวลาสร้าง 20 ปี ในสมัยพระเจ้าฟิลลิป ผู้ออกแบบ คือ Chalgrin ประตูชัยเอตวลอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซน เป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่โตหรูหรามากในด้านสถาปัตยกรรม มีอาเวอนู 12 สายมาพบกันดูเป็นแฉกเหมือนดาวสวยงามมาก ทำให้ Place de l’Etoile ได้ชื่อว่าเป็น le beau carrefour rayonnant ในปี ค.ศ. 1970 จัตุรัสนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Place Charles-de-Gaule แต่คนปารีสยังนิยมเรียกว่า Place de l’Etoile เสาที่ใหญ่ทั้งสี่เสาของประตูชัยหนา 20 เมตร มีลิฟต์พาขึ้นไปบนหลังคาประตูชัยได้บนเสาใหญ่มีภาพสลักนูนสูงที่สวยงามและมีคุณค่า แสดงชัยชนะในการสงครามในสมัยจักรวรรดิที่ 1 ใต้โค้งประตูมีหลุมฝังศพทหารนิรนามที่ตายเพื่อประเทศฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 บนหลุมฝังศพมีเปลวไฟลุกอยู่ไม่มีวันดับ เพื่อสักการะดวงวิญญาณทหารหาญเหล่านั้น